TPCH โดยโรงไฟฟ้าสตูลฯ และโรงไฟฟ้ามหาชัยฯ ได้รับประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ตั้งเป้าปี 70 เป็นองค์กร Carbon Neutral 100% และ Net Zero Emissions ในปี 75 พร้อมเปิดแผนเน้นการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน มีเป้ากำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 69 และเร่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ รองรับการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น
คุณเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Answer News Industrial Magazine ว่า ล่าสุดบริษัทได้รับประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยมอบให้แก่โรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลรวม 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) จ.สตูล และโรงไฟฟ้ามหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) จ.สมุทรสาคร ภายในงาน “มอบประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ประจำปี 2566”
สำหรับวัตถุประสงค์และนโยบายในการเข้ารับการประเมินเพื่อรับประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เริ่มต้นจากนโยบายของบริษัทในการให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2570 แต่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2575
“จากการดำเนินการตามนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราได้มีการศึกษาและเก็บข้อมูลพบว่า โรงไฟฟ้า 1 แห่ง สามารถผลิตพลังงานสะอาดที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ 40,000 ตันคาร์บอนต่อปี และเมื่อเข้าสู่กระบวนการของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เราพบว่า ปริมาณของเสียที่ปล่อยอยู่ที่ประมาณ 1,000 ตันคาร์บอนต่อปี ทำให้เราทราบถึงปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตและวิธีการแก้ไข เพื่อให้เป็นองค์กรที่ผลิตพลังงานสะอาดได้ 100% รวมทั้งเรายังสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เป็นองค์กรอันดับแรกๆ ของประเทศที่ได้รับใบรับประกาศนียบัตรเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ตามโครงการนำร่องขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกด้วย” คุณเชิดศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทได้ดำเนินการคาร์บอนเครดิตในรูปแบบของ I-REC (International Renewable Energy Certificate) และในรูปแบบของ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นการขอรับรองเครดิตการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและนำคาร์บอนเครดิตมาขายเพื่อให้เกิดรายได้ในปีนี้
โดยปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับคาร์บอนเครดิตในรูปแบบของ T-VER แล้ว 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานี กรีน จ.ปัตตานี และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 จ.นราธิวาส และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ได้มีการดำเนินการขาย I-REC ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์(CRB), โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอร์ยี (MWE), โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีนเพาเวอร์ (MGP), โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG)โรงไฟฟ้าชีวมวลพัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP), โรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลปัตตานี กรีน (PTG)
ส่วนการได้รับเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ดังกล่าวสามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบัน ในต่างประเทศมีกองทุนสีเขียว (Green Fund) ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจสีเขียวเป็นอย่างมาก โดยบริษัทได้มองเห็นโอกาสที่จะออกตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ที่มีการทำเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต สามารถสร้างมูลค่าและสร้างรายได้ให้กับบริษัท เพื่อนำงบประมาณมาพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
“ข้อดีของเรา คือ สามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับI-REC, T-VER, คาร์บอนเครดิต และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีหน้า เราก็จะเป็นบริษัทสีเขียวอย่างเต็มตัว และในปี 2575 เรายังตั้งเป้าที่จะเป็น Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนและกองทุนในต่างเทศอีกด้วย” คุณเชิดศักดิ์กล่าว
นอกจากการรับรองดังกล่าวแล้ว บริษัทยังได้รับคัดเลือกให้ติดอันดับ ESG100 ด้านหุ้นยั่งยืน ต่อเนื่อง 6 ปี (2559-2564) และในปี 2566 ได้รับเป็นปีที่ 7 ตอกย้ำบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล รวมทั้ง ได้รับรางวัล Thailand Energy Award จากโรงไฟฟ้า 7 แห่ง ตั้งแต่ปี 2561-2566 และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวด ASEAN Energy Awards (AEA) ตั้งแต่ปี 2561-2566 และมีโรงไฟฟ้าได้รับรางวัล จำนวน 6 แห่งอีกด้วย
คุณเชิดศักดิ์กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินธุรกิจว่า ตามแผนระยะกลางของบริษัทจะเน้นการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569 แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าภายในประเทศ 150 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 350 เมกะวัตต์มาจากการเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งบริษัทได้เล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตในต่างประเทศอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้จําหน่ายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทย่อยทั้งหมด 4 บริษัท (โรงไฟฟ้าชีวมวล 5 แห่ง) โดยตั้งราคาขายไว้ไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 จํากัด (TPCH1) โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.ยะลา, บริษัท ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 2 จํากัด (TPCH2) โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.ยะลา, บริษัท ทีพีซีเอชเพาเวอร์ 5 จํากัด (TPCH5) โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิต 6.3 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.นราธิวาส และบริษัท อีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จํากัด (ECO) โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดกำลังการผลิตโรงละ 3 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในกิจการโรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโอกาสในการลงทุนกิจการอื่นๆ ตามนโยบายของบริษัท
สำหรับแผนการลงทุนในธุรกิจในต่างประเทศ ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภท พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) บริษัทได้เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ปัจจุบันได้เซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปีหน้าและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้า (Commercial Operation Date : COD) ได้ประมาณไตรมาส 3/2567
Comentarii