บริษัท แพรคติก้า จำกัด ฉลองครบรอบ 36 ปี ส่งไม้ต่อจากรุ่นผู้ก่อตั้งสู่ Gen 2 เดินหน้าธุรกิจด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืน การันตีคุณภาพและมาตราฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ประจำปี 2565
Answer News Industrial Magazine ฉบับนี้ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษทายาทรุ่น 2 ของ บริษัท แพรคติก้า จำกัด คุณพิมภัทรา ทันด่วน และคุณพีรภัทร ทันด่วน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โดยเล่าต้นกำเนิดของแพรคติก้า ว่า บริษัทก่อตั้งมา 36 ปี จากจุดเริ่มต้นของคุณพ่อ กับคุณแม่ ที่ตัวท่านทั้ง 2 เป็นสถาปนิก ทำงานออกแบบตกแต่งภายในมาโดยตลอด ทำให้ได้มีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ และได้เข้าซื้อโรงงานดังกล่าว หลังจากนั้น ได้ดำเนินธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ เริ่มจากเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน, เฟอร์นิเจอร์ชุดครัว, และ เฟอร์นิเจอร์ชุดห้องนอน
หลังจากนั้นได้มีโอกาสร่วมงานกับลูกค้า และนักธุรกิจชาวต่างชาติ ที่เล็งเห็นศักยภาพของบริษัทในการทำเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน ด้วยความที่ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ เคยเป็นสถาปนิก จึงอยากนำเอาดีไซน์มาผนวกกับงานเฟอร์นิเจอร์ เพราะนิยามของแพรคติก้า คือ “Industrial Customized Furniture” หรือเฟอร์นิเจอร์สั่งผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรม ฉะนั้น งานเฟอร์นิเจอร์ที่เราทำออกมาจึงมีความแตกต่าง,โดดเด่น และตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็น Concept ของ แพรคติก้า
ความท้าทายในการทำธุรกิจ นั้น ผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน เล่าว่า ในยุคบุกเบิก ความยากของ Industrial Customized Furniture คือ การให้ความรู้กับตลาด เพราะ industrial customized furniture เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ปัจจุบัน ตลาดมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ความท้าทายจะเป็นเรื่องการแข่งขันจากต่างประเทศที่เป็นการแข่งขันด้านต้นทุนและราคา
ทั้งนี้ บริษัทได้ทำการจดลิขสิทธิ์เฟอร์นิเจอร์ของแพรคติก้า ทั้งในประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา และเยังได้รับรางวัลอีกมากมาย อาทิ รางวัล Prime Minister Award, รางวัล G Mark ประเทศญี่ปุ่น,และ FDA ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรางวัล Green Industry ประจำปี 2565
สำหรับโปรเจคที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับแพรคติก้า นั่นคือ “โปรเจคสัปปายะสภาสถาน” หรือ อาคารรัฐสภา แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารจะเป็นของแพรคติก้าเกือบทั้งหมด ตลอดจนผลงานต่างๆ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, โรงพยาบาลราชพฤกษ์ที่ขอนแก่น, ธนาคารทหารไทยธนชาต ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นต้น
ผู้บริหาร กล่าวอีกว่า เราต้องบริหารต้นทุนที่จะทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ส่วนการเจาะตลาดในต่างประเทศนั้น จะเชื่อมโยงกับ Green Industry ซึ่งทางต่างประเทศค่อนข้างให้ความสนใจ และใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม หรือมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ รวมถึงเรื่องของ “Sustainability” ทางเราต้องมีการวางแผนเข้าสู่กระบวนการด้านการรับรองต่างๆ เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
‘แพรคติก้า’ ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ประกอบด้วย 2 ส่วน 1.ส่วนของพนักงาน เริ่มตั้งแต่การแยกขยะภายในบริษัท การลดใช้พลาสติกต่างๆ การแยกเศษอาหารแล้วนำมาทำเป็นปุ๋ยเพื่อใส่ต้นไม้ที่อยู่ภายในบริษัท เราพยายามปลูกฝังพนักงานของเราเห็นภาพของ Sustainability และ Green ให้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ที่สามารถปรับใช้บ้านของพนักงานได้ ผ่านกิจกรรมอีกหลากหลาย 2.ส่วนของโรงงาน เช่น การจัดการน้ำเสีย การจัดการเรื่องฝุ่น ซึ่งเรามีเครื่องไซโลที่เก็บฝุ่นทุกอย่างจากโรงงาน สามารถนำไปรีไซเคิลได้ถึง 100% ซึ่งเราจะรีไซเคิลทั้งสี ทั้งกลิ่น และน้ำ ฉะนั้น การจัดการโรงงานเพื่อก้าวไปสู่สีเขียวถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากโรงงานของเราอยู่ท่ามกลางชุมชน
อีกเรื่องที่เรากำลังดำเนินการอยู่ คือ เศษวัสดุที่เหลือจากการผลิต เรามีโรงงานไม้, เหล็ก, ผ้า ซึ่งทุกครั้งที่มีวัสดุที่เหลือจากการผลิต เช่น เศษไม้ เราสามารถจะนำมาทำเป็นโต๊ะนักเรียนเพื่อบริจาค รวมถึงนำเศษผ้ามาสร้างสรรค์เป็นกระเป๋าผ้า เพื่อให้ลูกค้านำไปใช้สอย สำหรับชิ้นเหล็กจากการผลิต เราสามารถนำไปรีไซเคิล และทำเป็นชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ได้
นอกจากนี้ แพรคติก้า ยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเราได้มีการคำนวณระยะเวลาในการคืนทุน โดยใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง เรามองว่าเป็นการช่วยลดสภาวะโลกร้อน รวมถึงลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่าย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องพื้นฐานของการประหยัดไฟฟ้าภายในองค์กร คือ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนในองค์กรสามารถช่วยกันลดต้นทุนได้
“การต่อยอดธุรกิจในปี 2566 จากโครงการ Green Industry เราจะ Up to Level 3
ซึ่งแพรคติก้าเอง จะมี Line Group Practika Family ทุกวันทีมงานที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อม จะมีการส่งข้อมูลกิจกรรมเพื่อปลูกฝังและประชาสัมพันธ์…เราจะมุ่งสู่ Green Level 3”
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2566 ของแพรคติก้า ผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน ให้ความสำคัญ เรื่องบริษัทควรทำอย่างไรเพื่อที่จะให้แพรคติก้า สามารถแข่งขันในตลาดด้วยต้นทุนที่ถูกลง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร แรงงาน และอุปกรณ์ทุ่นแรงต่างๆ อีกทั้ง เรื่องของโลจิสติกส์ ด้วยกระแสเรื่องของรถไฟฟ้าในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปีหน้า บริษัทจะมีการปรับเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์สู่รูปแบบรถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ แพรคติก้าที่มีความแข็งแกร่งในตลาดเฟอร์นิเจอร์ประเภทออฟฟิศ เรามองตลาดออฟฟิศ ที่เริ่มมีคู่แข่งจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น เราจึงมีการปรับกลู่มลูกค้าเพื่อให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่ม Retail, กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา, โรงแรม และที่อยู่อาศัย เพื่อที่กระจายสินค้าให้ครอบคลุม
ส่วนการเจาะกลุ่มตลาดนั้น ตลาดในประเทศจะเป็นกลุ่มดีไซเนอร์ ซึ่งกลุ่มดีไซเนอร์เอง จะมีโปรเจคค่อนข้างหลากหลาย สิ่งที่เราต้องทำคือการพัฒนาตัวเราให้ตอบสนองกับ Segment อื่นๆ ที่ลูกค้าของเรามีอยู่เป็นวิธีการขยายธุรกิจ ในส่วนตลาดต่างประเทศนั้น พาร์ทเนอร์ก็มีส่วนสำคัญ การหาพาร์ทเนอร์เป็นสิ่งสำคัญ หากเราต้องการเข้าตลาดในต่างประเทศ เราจำเป็นต้องมีพาร์ทเนอร์
สิ่งสำคัญที่ทำให้แพรคติก้ามีความแตกต่างจากโรงงานต่างประเทศ คือเราจะดำเนินการให้ทุกขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ความสำเร็จของลูกค้า ก็เหมือนความสำเร็จของเรา สิ่งเหล่านี้ คือ ข้อแตกต่างระหว่างแพรคติก้า กับบริษัทเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศ
นอกจากนี้ เรายังมีบริการขึ้นต้นแบบสินค้า เพราะเฟอร์นิเจอร์ไม่สามารถดูตัวอย่างจากรูปภาพในกระดาษได้ จึงต้องมีการขึ้นต้นแบบสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีการผลิตเสร็จแล้ว เราจะมีทีม QC ที่คอยตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า ด้วยทีมขนส่ง และ ติดตั้งของแพรคติก้าเอง ท้ายที่สุด คือ Team After Sales Service ที่ลูกค้าสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้บริหาร พูดถึงสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ว่า แพรคติก้าทำงานในรูปแบบ B2B มาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ฉะนั้น กลุ่มลูกค้าของเราเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีการซื้อซ้ำ หากถามว่าอะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ลูกค้าซื้อซ้ำๆ นั้น ประการแรก คือ ความซื่อสัตย์ที่แพรคติก้ามีให้ต่อลูกค้าของเรา ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราถูกปลูกฝังมาจากคุณพ่อและคุณแม่ นอกจากนั้น เป็นเรื่องของคุณภาพสินค้า ที่มีความคงทน สามารถใช้ได้ในระยะเวลานาน ประการถัดมา เรามองลูกค้าเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง ที่เรามีความห่วงใย และปรารถนาดีต่อลูกค้า และเลือกสินค้าที่เหมาะสมที่สุด สิ่งเหล่านี้ คือ พื้นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ…แพรคติก้า
ด้านคุณภาพของแพรคติก้า เราแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1.การออกแบบ เรามีทีมงานออกแบบ กับทีมEngineer ซึ่งจะเป็นกลุ่มคอยทดสอบความแข็งแรงของสินค้า นอกจากความสวยแล้ว ต้องมีความแข็งแรง 2 .วัสดุ หรือ Material เราต้องมีการทดสอบที่ผ่านมาตรฐานของเรา ซึ่งเรามีทีม QC ในการตรวจสอบ
ในปีที่ผ่านมา เราถูก Request จากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าตัวเก้าอี้กึ่งเลานจ์ เราได้มีการร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ออกมาสู่ตลาด ส่วนอีกกลุ่มสินค้าที่จะได้เห็นในปีหน้า คือ สินค้าที่อยู่ในพื้นที่ Collaborative
สำหรับกิจกรรม CSR ภายในองค์กร ถ้าเป็นในช่วงก่อน โควิด-19 เราจะมีโครงการ “ขยะแลกบุญ” โดยการนำเอาขวดพลาสติกที่ทีมงานรวบรวมภายในบริษัท เพื่อไปบริจาคที่วัดเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นจีวร รวมถึงโครงการ“โต๊ะนี้ เพื่อน้อง” เป็นโครงการบริจาคโต๊ะ ที่ทำทั้งภายในและภายนอกบริษัท โดยทางพนักงงานสามารถแจ้งความประสงค์ ถึงสถานที่ที่ต้องการให้จัดส่งโต๊ะ อาทิ บ้านเกิดของตัวเอง ทางบริษัทก็จะดำเนินการจัดส่งไปให้ถึงที่ อีกทั้ง โครงการอื่นๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานของเราจะมีเงินสนับสนุนในการจัดกิจกรรม CSR ต่างๆ และโครงการอื่นๆ ที่ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่บริเวณรายรอบ
“นอกจากพนักงาน และลูกค้า อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือ คู่ค้า ถ้าแพรคติก้าไม่มีคู่ค้าที่ดี เราก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ต้องขอขอบคุณคู่ค้าที่ช่วยทำให้แพรคติก้าเดินมาถึงทุกวันนี้ ขอบคุณที่ให้ความรัก และความจริงใจต่อแพรคติก้า มาโดยตลอดระยะเวลา 36 ปี ธุรกิจจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากว่าเราไม่มีคู่ค้าที่น่ารัก ขอบคุณคู่ค้าที่ช่วยสนับสนุนแพรคติก้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเวลางาน หรือเวลามาพบเจอกันแต่ละครั้ง เราได้มีการพูดคุย สอบถาม Feedback การทำงานร่วมกันกับเรา ซึ่งเรามีความชัดเจนต่อคู่ค้าของเรา เราอยากให้ซัพพลายเออร์ทำงานกับแพรคติก้าอย่างสบายใจ” ผู้บริหารกล่าวทิ้งท้าย
Comments